ประเด็นสำคัญ
- การถมดินสร้างบ้านนั้นมีประโยชน์ต่อการสร้างบ้านเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้รับน้ำหนักโครงสร้างบ้านได้ดีแล้ว ก็ยังป้องกันปัญหาน้ำท่วม โพรงใต้บ้าน ไปจนถึงปัญหาบ้านอยู่ต่ำกว่าระดับถนน
- การถมที่ดินก่อนสร้างบ้านมีหลายจุดที่ต้องให้ความสำคัญทั้งลักษณะพื้นที่ ข้อกฎหมายที่ควรรู้ ประเภทของดินที่จะนำมาถม ความสูงของดิน และระยะเวลาที่ต้องทิ้งไว้ก่อนจะเริ่มสร้างบ้าน
พื้นดินสำหรับก่อสร้างบ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงสร้างบ้านโดยตรง แต่หากที่ดินเดิมอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมก็อาจเกิดปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างบ้านตามมาได้ การถมดินสร้างบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับบ้าน ช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้น แถมยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ ในอนาคต แต่นอกจากการนำดินมาถมในบริเวณที่จะสร้างบ้าน ก็ยังมีส่วนอื่นที่ต้องคำนึงถึงอยู่ด้วย วันนี้จระเข้จึงมีความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการถมที่สร้างบ้านมาฝากทุกคนกัน!
ประโยชน์ของการถมดินสร้างบ้าน
ภาพ: การถมที่ดินให้สูงขึ้น
- ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาที่ว่านี้หมายถึงกรณีที่มีการปรับระดับถนนให้สูงขึ้น การถมที่สร้างบ้านให้สูงขึ้น จะช่วยให้บ้านอยู่ในระดับเดียวกับถนน หรือไม่ต่ำกว่าถนนมากจนเกินไป ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินได้อีกทางหนึ่งด้วย
- ป้องกันน้ำท่วม การถมที่ดินช่วยปรับพื้นที่บริเวณบ้านให้สูงขึ้น จึงปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับคลอง บึง ไปจนถึงป้องกันน้ำท่วมจากท่อระบายน้ำได้อีกด้วย
- ป้องกันโพรงใต้บ้าน การถมดินสร้างบ้านช่วยป้องกันการเกิดโพรงใต้บ้าน ซึ่งเกิดจากน้ำหนักจากโครงสร้างบ้านไปกดทับ หากที่ดินไม่หนาแน่นพอ ก็จะทำให้เกิดการยุบตัว ส่งผลให้บ้านทรุดได้
- ช่วยให้บ้านเด่นขึ้น การถมดินสร้างบ้านช่วยให้บ้านอยู่สูงขึ้น จึงดูโดดเด่นสะดุดตาผู้ที่ผ่านไปมามากขึ้น ไม่ถูกบดบังจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ
ได้เห็นประโยชน์ของการถมดินสร้างบ้านกันไปแล้ว ใครที่กำลังมีแพลนสร้างบ้านหลังใหม่ก็คงอยากจะปรับพื้นที่ให้เหมาะสมมากขึ้น ตามจระเข้ไปดู 7 ข้อควรรู้ก่อนถมที่ดินเพื่อสร้างบ้านว่าจะต้องคำนึงถึงอะไรกันบ้าง
7 ข้อควรรู้ก่อนถมดินสร้างบ้าน ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างบ้าน
1. พื้นที่ที่จะถมดินสร้างบ้านมีลักษณะอย่างไร?
ภาพ: พื้นที่สำหรับสร้างบ้าน
ก่อนจะเริ่มถมที่สร้างบ้านควรสำรวจพื้นที่โดยรอบเสียก่อน เพื่อให้กำหนดระดับความสูงของการถมดินได้อย่างเหมาะสม โดยเริ่มจากการสอบถามจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เช่น หากเกิดน้ำท่วมส่วนใหญ่มักมีความสูงเท่าไร ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าน้ำจะแห้ง โดยคำถามเหล่านี้นำมาใช้เป็นตัวช่วยวิเคราะห์ได้ว่าชั้นดินภายในอ่อนตัวมากเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้ประเมินได้ว่าจะต้องถมดินมากแค่ไหน เพื่อให้เพียงพอต่อการยุบตัวของดิน นอกจากการสอบถามผู้อยู่อาศัยแล้ว พืชที่ขึ้นบริเวณโดยรอบก็นำมาช่วยประเมินได้เช่นกัน โดยแบ่งได้ดังต่อไปนี้
- บริเวณที่ดินแห้ง แข็ง มักพบต้นกระถินหรือมะขามเทศขึ้นโดยรอบ
- บริเวณที่ดินมีความชื้นสูง อ่อนตัว มักพบต้นกก ธูปฤาษี หรือต้นอ้อขึ้นโดยรอบ
2. จำเป็นต้องเจาะสำรวจชั้นดินก่อนถมที่สร้างบ้านหรือไม่?
ภาพ: การลงเสาเข็ม
นอกจากการสำรวจพื้นที่จากบริเวณรอบข้างแล้ว หากที่ที่จะถมดินเพื่อสร้างบ้านเคยเป็นบ่อน้ำ หนอง บึง ไปจนถึงบ่อขยะเก่า ควรใช้วิธีเจาะสำรวจชั้นดินเสียก่อน เพราะหากเนื้อดินเก่าเป็นดินอ่อน หรือมีเศษขยะเดิมอยู่ใต้ดิน เมื่อลงเสาเข็มแล้ว ความลึกของเสาเข็มอาจตรงกับบริเวณที่มีขยะอยู่ เมื่อเกิดการย่อยสลายอาจทำให้เสาเข็มทรุดตัวได้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อโครงสร้างบ้านได้
3. ถมที่ดินต้องใช้ดินจากไหน?
ภาพ: ดินสำหรับถมที่
ดินที่นำมาถมที่สร้างบ้านส่วนใหญ่มักเป็นดินที่ซื้อจากเจ้าที่อื่น ๆ ที่ต้องการขุดดินเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ขุดสระทำบ่อเลี้ยงปลา จึงต้องการขายดินเหล่านี้เพื่อไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โดยดินที่ขุดมาต้องไม่เป็นดินที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 เช่น ดินที่ไม่ได้ขุดตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด ดินที่ได้จากพื้นที่สาธารณะ หรือดินที่อยู่ในแนวเคลื่อนตัวซึ่งอาจทำให้พื้นที่อื่นได้รับผลกระทบจากดินไหล โดยประเภทดินที่นิยมนำมาถมที่เพื่อสร้างบ้านได้แก่
- ดินดานหรือดินซีแล็ค มีลักษณะเป็นดินแห้ง บดอัดได้ดี เมื่อปรับหน้าดินแล้วจึงปลูกบ้านต่อได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่นิยมใช้ถมพื้นที่ริมน้ำ หรือพื้นที่ที่จะทำถนน
- ดินถมทั่วไป มีลักษณะเนื้อดินแน่น สีจาง ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากนัก แต่เป็นดินที่มีราคาถูก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการถมดิน
- ดินเหนียว เป็นดินที่นิยมใช้ถมที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะเป็นดินที่มีเนื้อละเอียด อุ้มน้ำได้ดี มีราคาไม่สูงจนเกินไป และหาได้ง่าย
- หน้าดิน เป็นดินที่อยู่บริเวณหน้าดินในระดับ 0-0.5 เมตร มีเนื้อดินร่วนพรุน สีดำ และมีแร่ธาตุสูง จึงมีราคาสูงกว่าดินถมที่ประเภทอื่น ๆ เหมาะกับการถมที่สร้างบ้านที่ต้องการปลูกต้นไม้
4. ต้องถมดินสูงแค่ไหน?
ภาพ: การถมที่ดิน
ระยะความสูงที่จำเป็นก็คือต้องสูงกว่าระดับน้ำในดินเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้ามาในบ้านนอกจากนี้จะต้องมีระยะสูงกว่าถนน เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และน้ำท่วมจากถนนเข้ามาในบ้าน โดยส่วนใหญ่มักจะถมดินให้สูงกว่าถนนประมาณ 50-80 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการทรุดตัว ก็สามารถถมที่ดินให้สูงกว่า 1 เมตรได้เลย อย่างไรก็ตามต้องเผื่อระยะดินหดตัว โดยประเภทดินที่ต่างกันและสภาพอากาศที่หน้างานก็ส่งผลต่อการหดตัวของดินได้ด้วย
5. หากทุบบ้านเก่าต้องเก็บเศษซากให้หมดหรือไม่?
ภาพ: เศษซากจากการทุบอาคาร
กรณีทุบบ้านหลังเก่าและถมที่ดินเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ ควรเก็บกวาดเศษซากของบ้านหลังเก่าออกให้หมด เพราะหากถมดินทับลงบนเศษอิฐ หรือคอนกรีต อาจทำให้ดินทรุดตัวได้ เนื่องจากเศษซากเหล่านี้ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกับดิน อาจทำให้เกิดช่องว่างภายในชั้นดิน ซึ่งส่งผลให้ความชื้นหรือน้ำเข้าไปสะสมภายในช่องว่าง จนเกิดเป็นโพรงใต้บ้าน และส่งผลเสียร้ายแรงต่อโครงสร้างบ้าน ทำให้บ้านทรุดได้ง่าย ๆ
6. หลังถมที่ดินต้องรอนานแค่ไหนถึงจะปลูกบ้านได้?
ภาพ: ที่ดินที่ถมเรียบร้อยแล้ว
การบดอัดดินสมัยก่อน ใช้ช้างมาเหยียบบ้าง ใช้รถบดดินมาบดอัดด้วยการขับซ้ำไปหลาย ๆ รอบ และบางพื้นที่ก็ปล่อยให้ผ่านไปหลายฤดูฝน ปัจจุบันการสร้างบ้านใหม่หากต้องการถมดินแล้วปลูกบ้านเลย จะต้องให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ดินเป็นผู้ออกแบบการเตรียมที่ดิน หากถมเอง แล้วตอกเสาเลย เสี่ยงต่อการเกิดดินไหล และบ้านทรุดในอนาคต โดยมีขั้นตอนการคำนวณคร่าวๆ ดังนี้
- เก็บตัวอย่างดินไปตรวจสอบเพื่อหาค่าเซ็ตตัวของดิน
- คำนวณว่าบ้านทั้งหลังน้ำหนักเท่าไหร่
- คำนวณจำนวนเสา และขนาดของเสาที่จะรองรับน้ำหนักของบ้านหรืออาคารได้ทั้งหลัง
- ออกแบบวิธีการเตรียมดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสม
7. ถมดินถือเป็นการต่อเติมที่ต้องแจ้งหน่วยงานไหม?
ภาพ: การถมดินสร้างบ้านต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่
การถมดินสร้างบ้านในพื้นที่เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่กำหนดตามกฎหมายจะต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นให้รับทราบ โดยการถมที่ดินที่ต้องแจ้งคือการถมดินที่มีขนาดมากกว่า 2,000 ตารางเมตร หรือ 1 ไร่ 1 งาน และเป็นที่ที่ถมให้สูงกว่าที่ดินด้านข้าง เมื่อวัดจากด้านที่มีพื้นที่ต่ำสุด นอกจากนี้ยังต้องทำรางระบายน้ำตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด เพราะการถมที่ดินอาจปิดทางน้ำไหลหรือทำให้ระบบนิเวศใกล้เคียงเปลี่ยนแปลงไปได้
เติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้งานโครงสร้างหลังถมดินด้วยจระเข้ แอดมิค โมลด์-โอ
ภาพ: จระเข้ แอดมิค โมลด์-โอ
หลังจากถมดินสร้างบ้านให้ได้ระดับที่ต้องการ พร้อมบดอัดให้แน่นและปล่อยระยะเวลาให้นานเพียงพอต่อการก่อสร้างแล้ว ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญมากก็คือการก่อสร้างรากฐานและตอม่อ และเพื่อให้โครงสร้างบ้านแข็งแกร่งตั้งแต่เริ่มต้นอย่าลืมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมความสมบูรณ์แบบให้กับโครงสร้างอย่างจระเข้ แอดมิค โมลด์-โอ น้ำยาถอดแบบสูตรน้ำมันแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน ใช้สำหรับทาแบบหล่อคอนกรีตทุกชนิด โดยน้ำยาจะทำหน้าที่เป็นฟิล์มเคลือบแบบ ป้องกันไม่ให้คราบสกปรกเกาะติดพื้นผิวคอนกรีต ช่วยให้ถอดแบบได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยให้รากฐานบ้านที่ได้ออกมาแข็งแกร่ง ไร้รอยแตกร้าวเสียหาย ช่วยให้การก่อสร้างบ้านสมบูรณ์แบบตั้งแต่โครงสร้างชั้นล่างสุด