

“ท้องวาฬไม่ใช่ที่เก็บขยะของมนุษย์” จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ sustainable design collection นี้ ไม่ว่าจะเป็นกล่องใส่ก้านสำลีที่มีปลาวาฬพุ่งเข้าใส่ กล่องเก็บถุงพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำๆ ก่อนทิ้ง ออกแบบเป็นปลาวาฬตัวอ้วนที่วัสดุผลิตจากขยะในทะเล ดึงถุงไปใช้ก็เท่ากับได้ช่วยดึงขยะออกจากท้องปลา ทุกครั้งที่หยิบใช้ก็ต้องฉุกคิด หยุดทิ้ง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นขยะที่จะทำให้ปลาวาฬหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ เผลอกินเข้าไปและตายลงในที่สุด กระบวนการได้มาของวัสดุจากขยะจากท้องทะเลไม่ใช่เรื่องง่ายและมีการทุ่มใจทุ่มทุน เพื่อ “ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลัง” Qualy ประสานกับชุมชนชาวประมงทางภาคใต้ของไทยเพื่อรับซื้อขยะจากทะเลในราคาที่สูงกว่า เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน และยังเข้าร่วมโครงการ Net Free Seas โดย EJF (Environmental Justice Foundation) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทำประมง Qualy สนับสนุนการนำแหอวนที่เหลือจากการซ่อมแซมหรือการเสียหายจากการจับสัตว์น้ำซึ่งมักจะถูกเหวี่ยงทิ้งไว้กลางทะเลเป็นภัยกับสัตว์น้ำมากมาย เอากลับมาแปลงเป็นงานออกแบบ เช่น Qualy Push & Touch แท่งกดปุ่มอนามัย ป้องกันภัยจาก COVID19 สามารถใช้กดหน้าจอโทรศัพท์และทัชสกรีนได้ “ปกป้องตัวคุณ ปกป้องทะเล”


“ป้ายแดง” จูงใจ ในทางธุรกิจ การตลาด การผลิตสินค้าในราคาที่เหมาะสม ลูกค้าถูกใจสร้างยอดขายเป็นสิ่งดี แต่ถ้าสามารถทำควบคู่กับ “ป้ายเขียว” คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งกว่า ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบและเจ้าของ brand ไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมกล่าว


ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติลดการทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการผลิตที่ลดมลพิษ ผลิตภัณฑ์ที่ดีกับโลกดีและผู้ใช้งาน การจัดกิจกรรมสนับสนุนแนวคิดดีๆ รวมไปถึงการคัดสรรของขวัญที่ส่งต่อคุณค่านี้ Gift & Give จากใจให้ประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนของทุกชีวิตร่วมกัน