โดย อ.วิญญู วานิชศิริโรจน์
คนทั่วไปเมื่อเห็นสองคำนี้ คงไม่รู้สึกว่ามันจะเกี่ยวข้องกันอย่างไง ความรู้สึกที่พูดถึงคำแรกคือ “ซาลาเปา” คงคิดถึงของกิน ที่พนักงานร้านสะดวกซื้อจะถามเราตอนกำลังจ่ายเงินว่า “จะรับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มไหมคะ” ทั้งที่วันนั้นเรากำลังจะจ่ายเงินค่าน้ำยาล้างจาน ใจคอจะให้ทานคู่กันหรืออย่างไรกัน!
สำหรับในวงการก่อสร้าง เราใช้คำว่า “ซาลาเปา” อยู่ 2 ความหมาย ความหมายแรกคือชื่อของโคมไฟแก้วสีขาวรูปทรงกลมผ่าครึ่ง คล้ายซาลาเปาว่า “โคมซาลาเปา” ที่มีหลอดไฟเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบวงกลม 32 วัตต์ อีกความหมายหนึ่งคือเรื่องที่เราจะพูดถึงในวันนี้และเกี่ยวข้องกับคำว่า “ขี้หนู” ด้วย ก็คือ “ซาลาเปา” เป็นชื่อเรียกวิธีการปูกระเบื้องแบบโบราณ ที่ใช้การเอาปูนจำนวนหนึ่งป้ายลงหลังกระเบื้องแล้วกดกระเบื้องลงบนพื้นหรือผนังให้ได้ระดับตามต้องการ โดยจะมีการปาดเนื้อปูนที่ปลิ้นออกมาตามขอบกระเบื้องทิ้งไป

ช่างไทยชอบใช้วิธีการปูแบบนี้เพราะทำงานได้เร็ว ปรับระดับกระเบื้องได้ง่าย พื้นผิวเดิมไม่ต้องได้ระดับมากก็สามารถปูกระเบื้องลงไปได้เลย การปูกระเบื้องแบบนี้เหมาะกับการปูกระเบื้องสมัยก่อนที่มีขนาดเล็กและมีร่องยาแนวกว้างเพราะเมื่อปูไปแล้วโอกาสที่เนื้อปูนใต้แผ่นกระเบื้องไม่เต็มพื้นที่มีน้อย แต่ปัจจุบันกระเบื้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าในอดีตมาก และยาแนวก็มีขนาดเล็กลง ๆ ทำให้การปูกระเบื้องแผ่นใหญ่ด้วยวิธี “ซาลาเปา” จึงมีโอกาสที่ปูนใต้กระเบื้องไม่เต็มเกิดขึ้นได้มาก อีกทั้งคุณสมบัติของปูนซิเมนต์ที่เรียกว่า “ปูนดำ” ที่ช่างไทยนำมาใช้ปูกระเบื้องนั้นก็มีการยึดเกาะกับกระเบื้องได้ไม่ดี เพราะไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ยึดกระเบื้องนั่นเอง
การปูกระเบื้องด้วยวิธีนี้จึงสร้างปัญหาให้กับเจ้าของบ้านในภายหลังหลายเรื่อง เช่น ปูนใต้กระเบื้องที่ไม่เต็ม ทำให้เกิดเป็นโพรงอากาศทำให้เวลาเดินผ่านแล้วรู้สึกว่าใต้กระเบื้องกลวง ๆน่ารำคาญ และตัวกระเบื้องมีโอกาสแตกตรงบริเวณที่ใต้กระเบื้องเป็นโพรงอีกด้วย
นอกจากการปูแบบ “ซาลาเปา” แล้ว ปัจจุบันมีวิธีการปูกระเบื้องแบบใหม่ที่ก่อปัญหาไม่แพ้กัน เรียกว่าการปูกระเบื้องด้วย “ปูนขี้หนู” การปูกระเบื้องวิธีนี้เป็นการปูแบบหนา โดยใช้ปูนผสมทรายแล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้อย ๆ ทำให้ปูนดูเป็นขุย ๆ เหมือน “ขี้หนู” จากนั้นจะเทปูนนี้ลงบนพื้นที่ที่จะปูกระเบื้อง ช่างจะวางแผ่นกระเบื้องลงไปบนผิวปูนขี้หนูแล้วกดปรับความเรียบของพื้นโดยใช้ลักษณะที่เป็นรูพรุน และเป็นโพรงอากาศของปูนขี้หนูเป็นตัวปรับระดับ
ช่างนิยมปูกระเบื้องด้วยปูนขี้หนูเพราะ ปูง่าย ปูได้เร็ว ทำงานครั้งเดียว แต่ปัญหาใหญ่คือ กระเบื้องมักไม่ค่อยได้แนว เนื่องจากปูนที่ผสมน้ำน้อยนั้นกว่าจะเซ็ทตัวต้องใช้เวลานาน ทำให้มีโอกาสที่กระเบื้องขยับตัวได้ง่าย อีกทั้งมีโอกาสที่กระเบื้องหลุดร่อนในภายหลัง เพราะเนื้อปูนที่พรุนจึงยึดเกาะกับหลังกระเบื้องได้ไม่ดีนัก ยิ่งถ้าผสมปูนน้อยเกินไป หรือใส่น้ำน้อยเกินไปจนไม่เกิดปฎิกิริยาทางเคมีมากพอ ปูนข้างใต้กระเบื้องจะแข็งแรงน้อยมาก และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ถ้าใช้การปูกระเบื้องด้วยวิธีนี้บนพื้นที่ภายนอก เช่น เฉลียง ระเบียง หรือ ห้องน้ำที่มีโอกาสโดนน้ำหรือมีน้ำขัง ถ้าน้ำซึมผ่านยาแนวกระเบื้องลงไป น้ำจะสะสมอยู่ในปูนขี้หนูที่อยู่ใต้กระเบื้องที่เกิดโพรง ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้

ผู้เขียนเคยพบปัญหาที่มีการปูหินแกรนิตด้วยปูนขี้หนู บริเวณเฉลียงที่ไม่มีหลังคาปกคลุม เวลาฝนตกน้ำฝน จะซึมผ่านบริเวณรอยต่อของหินลงไปสะสมที่ปูนขี้หนูที่อยู่ใต้แผ่นหินจนชุ่มน้ำ และเพิ่มมากขึ้น ๆ จนความชื้นนั้นทะลุผ่านเข้าไปในปูนขี้หนูใต้กระเบื้องภายในบ้าน จนเกิดซึมขึ้นมาด้านบนของกระเบื้องด้านใน ทำให้กระเบื้องเป็นรอยด่าง เป็นจ่ำ ๆ ดูไม่จืดเลยครับ
ดังนั้นการปูกระเบื้องหรือปูหินที่ถูกต้อง ไม่ควรใช้ทั้งวิธีปูทั้งแบบ “ซาลาเปา” และ “ปูนขี้หนู” แต่ควรทำระดับพื้นด้วยปูนทรายปรับระดับ (self-levelling) หรือฉาบผนังด้วยปูนฉาบให้ได้ระดับและความเรียบตามที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงปูกระเบื้องด้วยปูนกาวเท่านั้น วิธีนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้พื้นกระเบื้อง หรือพื้นหินที่มีปูนใต้พื้นเต็มพื้นที่ทุกบริเวณ และวัสดุจะยึดเกาะกับผิวพื้นได้อย่างมั่นคง ใช้งานไปได้อย่างยาวนานคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไป